เชียงใหม่เดินหน้าจัดงานรณรงค์ 16 วันแห่งการเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในผู้หญิง อาชญากรรมและภัยอันตรายทางไซเบอร์
เชียงใหม่ 25 พ.ย.- จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก FOCUS มูลนิธิศูนย์เพื่อน้องหญิงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตำรวจภูธร ภาค 5 รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรพันธมิตรทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ โดยการสนับสนุนจาก โครงการความร่วมมือระหว่าง UN Women กับ รัฐบาลญี่ปุ่น และจาก มูลนิธิไดอาโกเนีย ประเทศไทย (Diakonia Thailand) จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แคมเปญ 16 วันแห่งการเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ “ต่อต้านการค้ามนุษย์รูปแบบออนไลน์เซ็นเตอร์ในผู้หญิง” ณ ลานก้ามปู จริงใจมาเก็ต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในผู้หญิง และอาชญากรรมและภัยอันตรายทางไซเบอร์ โดยมีนายเบน สวัสดิวัตน ประธานมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (FOCUS) กล่าวต้อนรับ นายธีรเชนทร์ เดชา ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เลขานุการ คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงาน และนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานเปิดงาน
ทั้งนี้การจัดกิจกรรม 16 วัน แห่งการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง เป็นแคมเปญนานาชาติที่จัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน โดยเริ่มต้นครั้งแรกในปี 1991 โดยสถาบัน Women’s Global Leadership Institute แคมเปญนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ สร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีและเด็กหญิงทั่วโลก โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันและขจัดความรุนแรงดังกล่าว
ปัจจุบันพบว่า สันติภาพและความมั่นคงของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทุกคนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์และสื่อสารกันได้อย่างอิสระ “กลุ่มขบวนการการค้ามนุษย์” ก็เช่นเดียวกัน โดยพบว่าการก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์เซ็นเตอร์กำลังแพร่หลาย จากหลักฐานหลากหลายแห่งชี้ว่า 20-40% ของเหยื่อในออนไลน์เซ็นเตอร์ เป็นสตรีและเด็กหญิง หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลต่อความมั่นคงและสันติภาพในสังคมอย่างร้ายแรง
ภายในงานยังมีการปาฐกถา หัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อป้องกันความรุนแรงต่อสตรีและการค้ามนุษย์” โดย นางสาวกรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ผู้แทน UN Women Thailand และการมอบทุนการศึกษาและประกาศนียบัตร ผู้ชนะการประกวดภาพถ่าย และภาพวาด ภายใต้หัวข้อ “Invisible Scars: บาดแผลที่มองไม่เห็นของเหยื่อบนโลกไซเบอร์” ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายได้แก่ นางสาว ชลธิชา จำเริญรื่น วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ชื่อผลงาน: ความโดดเดี่ยวที่ทรมาน รางวัลรองชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายได้แก่นาย คัมภีรภาพ คำชะนะ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม ชื่อภาพ: A feeling that no one knows (ความรู้สึกที่ไม่มีใครรู้) และรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพวาดสีไม้ ได้แก่ นาย สุวรรณ ยาจิง นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม ชื่อผลงาน: ความสว่างที่มันอาจจะดับสูญ
นอกจากนี้มีเวทีสนทนากับผู้เชี่ยวชาญ “การค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์ทางไซเบอร์ต่อผู้หญิงและเด็ก” โดย พ.ต.ท.หญิง วรรณภา โชตินอก ตำรวจภูธร ภาค 5 และ นายธิติชัย ศรภักดี นักฎหมาย มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก FOCUS มีบูธนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งความรู้เกี่ยวกับภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเยาวชน, ภารกิจและบริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ช่องทางการติดต่อขอความช่วยเหลือ, เกมส์และเวิร์คชอป พร้อมรับของรางวัลพิเศษจากการร่วมกิจกรรม การแสดงดนตรีโฟล์คซอง จากวง “Eye styles Band” เป็นต้น