เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ สมาพันธ์และภาคประชาชน รวม 47 องค์กร บุกศาลากลางเชียงใหม่ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านผู้ว่าฯ ค้านร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพย์ยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติฯ เข้า ครม.พรุ่งนี้ หวั่นชนวนขัดแย้งรัฐ-ปชช.ระอุ
เชียงใหม่ 11 พ.ย.- ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ สมาพันธ์และภาคประชาชน รวม 47 องค์กร กว่า 800 คน นำโดยนายสมศักดิ์ เสกสรรวรกุล ประธานกลุ่มท่องเที่ยวดอยอินทนนท์ รวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ พร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพย์ยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่จะมีการนำเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุญาติใช้ที่ดินในกรอบระยะเวลา 20 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อลดการใช้ที่ดินและนำไปสู่การไล่คนออกจากป่า / เป็นการละเมิดสิทธิ์ประชาชนที่รัฐละเลยตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิคนพื้นเมืองที่นานาประเทศได้ลงนามไว้ และกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในเขตอนุรักษ์ ระหว่างรัฐกับประชาชนได้ แต่กลับจะทำให้ข้อพิพาททวีความรุนแรงมากเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในป่า อนุรักษ์กว่า 4 พันชุมชน ถูกกดขี่รังแก
จึงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยุติการนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งหากการคัดค้านไม่เป็นผล ก็จะส่งผลถึงการยุติความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหาการบุรุกป่าและไฟป่าในอนาคต โดยตัวแทนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งด่วนถึงรัฐบาลให้ทันภายในวันนี้ ก่อนที่จะมีการนำเข้าพิจารณาของ ครม.ในวันพรุ่งนี้ จากนั้นแกนนำกลุ่มต่างๆ ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอ่านแถลงการณ์ร่วมหยุดร่างพระราชกฤษฎีกาฯ โดยระบุตรงกันว่า ชาวบ้านในฐานะผู้บุกเบิกและผู้ดูแลรักษาป่าถูกกล่าวหาว่าเป็น ผู้บุกรุกและผู้ทำลายป่า แต่ก็ได้ยืนยันสิทธิและร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอด นอกจากนั้นที่ผ่านมาหลายชุมชนยังได้ร่วมกันดูแลรักษาและปกป้องผืนป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันสภาพป่าได้ฟื้นตัวและมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม แต่ภัยคุกคามใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือความพยายามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่จะเร่งผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายนนี้ โดยเครือข่ายเห็นว่า เนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับ เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน เปลี่ยนประชาชนผู้บุกเบิกให้กลายเป็นผู้บุกรุก สอดแทรกแนวทางการยึดที่ดินของประชาชน บีบบังคับจำกัดสิทธิ์การถือครองที่ดินและยังรวบอำนาจผูกขาดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ที่หน่วยงานป่าไม้เท่านั้น แนวทางดังกล่าวเป็นการผลักคนออกจากป่าไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว ที่พยายามผลักดันกฎหมายอนุรักษ์อันล้าหลังและอำนาจนิยม มากดขี่ประชาชนโดยไม่สนใจกระแสโลกที่เปลี่ยนไปสู่การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนท้องถิ่น แม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม สร้างกลุ่มเห็นว่า รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างกฤษฎีกาฉบับนี้ โดยทางกลุ่มจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากยังมีการพิจารณาก็จะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวในทันที.