แพลททินั่มฟรุ้ตผู้ส่งออกรายใหญ่ผลไม้ช่วยยกระดับคุณภาพลำไยให้เกษตรกรเหนือ แก้ปัญหาทั้งราคาและคุณภาพชีวิตชาวสวนได้ยั่งยืน

Platinum fruits ผู้ส่งออกรายสำคัญผลไม้ไทย ช่วยยกระดับคุณภาพผลผลิตแก่เกษตรกรสวนลำไยภาคเหนือนำร่องที่ลำพูนแล้ว ทำให้ตรงความต้องการตลาด แก้ปัญหาได้ทั้งราคาและคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้ยั่งยืน เผยผ่านมาได้ผลผลิตตามเกรดแค่ 30% ‘ธรรมนัส’รุดดูสั่งเตรียมวางแผนหนุนอีกทาง

เชียงใหม่ 18 ก.ค.- นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด (Platinum fruits) ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า ในฐานะที่บริษัทมีความชำนาญในธุรกิจส่งออกลำไยมากกว่า 10 ปี เริ่มต้นก่อตั้งโรงงานลำไยสดแห่งแรกที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขยายตลาดการส่งออกและตอบรับความต้องการที่สูงขึ้นจากตลาดต่างประเทศ จากนั้นขยายโรงงานเพิ่มเติมที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และล่าสุดคือที่ จังหวัดสระแก้วเพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2566 โดยปัจจุบันมีปริมาณการส่งออกลำไยสดและลำไยแกะเม็ดแช่แข็ง รวมปีละกว่า 20,000 ตัน ตลาดหลักในการส่งออก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย และตลาดล่าสุดที่เข้าไป คือ อินเดีย โดยจะเห็นได้ว่าแต่ละตลาดที่แพลททินัม ฟรุ้ต เข้าไปเป็นตลาดที่มีจำนวนประชากรสูง ซึ่งจะสัมพันธ์ไปกับปริมาณการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

“ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถปลูกและส่งออกลำไยได้และเชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตที่เปิดกว้างอยู่มากหากนำสินค้าเข้าไปถูกตลาด โดยเฉพาะลำไยสดช่อคุณภาพเกรดAA และ A ที่แพลททินัม ฟรุ๊ต นำไปเจาะตลาดระดับบนของกลุ่มที่มีกำลังซื้อในแต่ละประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดค่านิยม เกิดความต้องการอยากกินสินค้าของเรากระจายไปในวงกว้าง หากการที่จะทำได้นั้นสินค้าเราต้องดีจริง ต้องพรีเมียมจริง ซึ่งตรงนี้เรามั่นใจ เพราะผลไม้ของแพลททินัม ฟรุ๊ตจะต้องผ่าน Global standard ตั้งแต่การคัดเลือกผลไม้จากสวนที่ได้มาตรฐาน GAP และ Global GAP ผ่านการผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิต อาทิ HACCP, GMP, GHP, DOA, และ Halal พร้อมบริการขนส่งที่มีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อรักษาความสดทุกลูก”นายณธกฤษ กล่าวและว่า จากการที่บริษัทอยู่ในธุรกิจส่งออกลำไยมานาน ทำให้ทราบว่าวิถีของชาวสวนลำไยทางภาคเหนือจะยังปลูกตามวิถีดั้งเดิมไม่ได้มีการจัดระบบในเชิงอุตสาหกรรม ต่างจากทางจันทบุรีที่มีการจัดระบบสวน บริหารจัดการน้ำ คำนวณการให้ปุ๋ย ให้ยาที่ถูกจังหวะ จึงพาชาวสวนลำไยภาคเหนือไปดูงานที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ให้เห็นวิถีการทำลำไยเชิงอุตสาหกรรมว่า มีกระบวนการขั้นตอนแบบใดเพื่อจะทำให้ได้ผลผลิตตามคุณภาพการส่งออก (Global GAP) รวมถึงเรียนรู้วิธีการเก็บเกี่ยวลำไยให้ได้ราคาดี และความสำคัญของวินัยการเงินอีกพื้นฐานจำเป็นสำหรับชาวสวนยุคใหม่ เพื่อนำองค์ความรู้ แนวทางปฏิบัติไปยกระดับคุณภาพสวนลำไยของตนเองเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น และผลิตได้ตามมาตรฐานส่งออก

โดยโครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีชาวสวนสนใจเข้ามาร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 200-300 แปลง จึงนำมาสู่การพัฒนาความร่วมมือกับชาวสวนลำไยอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการระยะสองหลังจากพัฒนาโมเดลนี้จำนวน 30 รายๆละ 5 ไร่เพื่อเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบกับที่ชาวสวนทำเอง บนพื้นที่จำนวน 150 ไร่ใน อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งบริษัทมีทีม R&D คอยดูแล รับผิดชอบเรื่องปุ๋ยและยาพ่นฟรี พร้อมรับซื้อผลผลิตทั้งหมด เพื่อนำร่องความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพลำไยให้สามารถส่งออกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งบริษัทมีตลาดใหญ่รองรับผลผลิตถึง 3 ตลาดได้แก่ อินโดนีเซีย จีนและ อินเดีย โดยจะเก็บเกี่ยวครั้งแรกในราววันที่ 15 สิงหาคมนี้ ผลผลิตก็ลูกใหญ่กว่าของเกษตรกรชัดเจน

นายณธกฤษ กล่าวอีกว่า ตั้งเป้าปี 2567 การส่งออกจะเติบโตอีกเป็น 30,000 ตัน หรือ 50% ของปีก่อนหลังบริษัทเปิดตลาดอินเดียและเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเร็วๆ นี้ การที่เราจะได้ผลไม้คุณภาพที่ดีไปสู่ปลายทางหมายถึง ต้นทางต้องดี นั่นคือ “เกษตรกร” ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราทำคือ เข้าไปเติมความรู้ให้กับชาวสวนเพื่อพัฒนาลำไยให้ได้คุณภาพตาม “มาตรฐาน”ความต้องการของผู้บริโภค โดยทั้งหมดนี้ที่ทำไปเราไม่ได้มุ่งเน้นแค่ในเชิงธุรกิจ แต่ต้องการดูแลเกษตรกรให้เติบโตยั่งยืนไปด้วยกันทั้งระบบ ซึ่งเชื่อว่า การพัฒนาคุณภาพลำไยให้ได้เกรด AA และ A ลูกใหญ่ คุณภาพดีเยี่ยม จะเป็นจุดสำคัญสุดในการช่วยเหลือชาวสวนลำไยภาคเหนือให้หลุดพ้นจากปัญหาวงจรราคาได้อย่างยั่งยืนรวมทั้งยกระดับคุณภาพขีวิตที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งวันก่อนหน้าคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ได้เข้าเยี่ยมกิจการและเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว มีการมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปเตรียมพร้อมในการสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย ซึ่งหากภาครัฐเอาจริงทำให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้ในการผลิต สร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องดีได้และไม่ตกอยู่ในวงจรปัญหาเดิมๆเช่นที่ผ่านมา

นอกจากนี้เห็นด้วยกับการที่จะมี พ.ร.บ.ลำไยที่กำลังมีการผลักดันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา หรือแม้แต่กระทั่งทุเรียนที่บริษัทเองก็เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญไปยังต่างประเทศเห็นถึงสภาพปัญหาต่างๆยืนยันว่าผลไม้ของไทยมีคุณภาพที่ดีแต่ยังติดปัญหาเรื่องของคุณภาพการผลิตเช่นกรณีของลำไยในพื้นที่ภาคเหนือที่บริษัทจัดซื้อกว่าหมื่นคอนเทนเนอร์ สามารถส่งออกตามเกรดได้เพียง 3,000 เท่านั้น ขณะที่ผลผลิตที่จันทรบุรี หมื่นคอนเทนเนอร์สามารถส่งออกได้กว่า 9,000 ซึ่งต่างกันมาก.