ประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย จัดงานประจำปี “ป๊ะ ปุ๊ แป๋ง เปี๊ยะ ปี2”: จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ เพื่อเชื่อมเพื่อนภาคี หวังเกิดการขับเคลื่อนงานลดปัจจัยเสี่ยงปกป้องเยาวชนในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน
เชียงราย 7 ธ.ค.67 – ที่บ้านสิงหไคล (มูลนิธิมดชนะภัย) ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “ป๊ะ ปุ๊ แป๋ง เปี๊ยะ ปี2”: จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ โดย นางกัญญานันท์ ตาทิพย์ ผู้จัดการเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ประชาคมงดเหล้าฯและภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงรายจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสื่อสาร การแสดงออก มีพื้นที่สร้างสรรค์และเชื่อมเครือข่ายเด็กเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ โชว์ เชื่อมและกำหนดแนวทางการพัฒนาของเพื่อนภาคีเครือข่าย : เพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ และเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566/67 ของประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย ภายในงานมีทั้งการ ออกบู๊ธนิทรรศการผลการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์ของชุมชนคนสู้เหล้าประจำปี 2566/67 การแสดงของเด็กเยาวชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาเด็กเยาวชนให้ลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สุขภาพจิต ยาเสพติดและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การเสวนาแนวทางการพัฒนาภายใต้กรอบคิด “จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋” การแสดงของเครือข่ายเยาวชนจังหวัดเชียงรายและประกาศเจตนารมณ์สานพลังเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)
“ผ่านมาทุกหน่วยงานต่างทำได้ดีอยู่แล้วแต่อาจจะขาดพื้นที่กลางร่วมกันสื่อสารและสานพลัง เครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบนพยามจะเชื่อมร้อยทุกส่วนมาร่วมขับเคลื่อน เป็นพื้นที่แชร์ทุกข์สุขหาแนวทางร่วมกันทำงานเพราะทุกวันนี้ปัจจัยเสี่ยงมีมากกว่าสุราซึ่งก็ยังอยู่ในระดับต้นๆ เพราะจากสถิติคนเชียงรายและภาคเหนือก็ยังเป็นนักดื่มหรือเข้าถึงในระดับต้นๆ ของประเทศ การมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะได้ร่วมกันคิดวางแนวทางขับเคลื่อนให้กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเยาวชนปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น” นางกัญญานันท์กล่าว
ขณะที่นายฤทธิรงค์ หน่อแหวน ประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากจังหวัดเชียงรายที่มีพื้นที่ 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,751 หมู่บ้าน โดยมีสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดเชียงราย พบว่า อัตราการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในปี 2564 พบว่า มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ จากการคัดกรองข้อมูลพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในโปรแกรม Jhcis และ Hosxp ระบบ special pp ปีงบประมาณ 2566 มีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 755,935 ราย ได้รับการคัดกรองจำนวน 300,059 ราย คิดเป็นร้อยละ 39.69 โดยแยกตามพฤติกรรมการดื่มดังนี้ ไม่เคยดื่มเลยจำนวน 160,251 ราย คิดเป็นร้อยละ 53.40 เคยดื่มสุราแต่หยุดมาแล้ว 1 ปีขึ้นไปจำนวน 32,778 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.92 มีพฤติกรรมดื่มสุรา จำนวน 96,108 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.03 เมื่อมีการจำแนกปริมาณการดื่มสุราเพื่อประเมินความเสี่ยงในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามระบบ Assist พบว่า มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระดับความเสี่ยงต่ำจำนวน 89,646 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.28 มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระดับความปานกลางจำนวน 5,766 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.00 มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระดับความเสี่ยงสูง จำนวน 696 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.72 มีการส่งต่อเพื่อรับการบำบัดช่วยเลิกจำนวน 266 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.21 (ข้อมูลจากรายงานสรุปผลการดำเนินงานการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ปีงบประมาณ 2566 ณ วันที่ 30 เมษายน 2566)
ในภารกิจการทำงานทางประชาคมงดเหล้าจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ เน้นการป้องกันและการลด ละ เลิกของนักดื่ม นักสูบ นักเสพทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ บูรณาการภาคีเครือข่ายสร้างเสริม งานบุญประเพณีปลอดเหล้าระดับพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยบูรณาการกับกลไก พชอ. และพัฒนาศักยภาพยกระดับแกนนำคนทำงานในพื้นที่ชุมชนสุขปลอดเหล้า ให้สามารถขับเคลื่อนงานต่อเนื่องของชมรมคนหัวใจเพชร เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายพระภิกษุสงฆ์ เครือข่ายสถานศึกษาและเครือข่ายเยาวชนอำเภอป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ YSDN (Youth Stop Drink Network) ซึ่งในพื้นที่ 7 อำเภอคือ 1) อำเภอเวียงชัย 2) อำเภอเทิง 3) อำเภอแม่จัน 4) อำเภอพาน 5) อำเภอเวียงป่าเป้า 6) อำเภอแม่สาย และ7) อำเภอเชียงแสน
โดยมองว่า การได้มาพบปะพูดคุยกันเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้รู้และคิดร่วมกันในการทำงานและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของสุราเท่านั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมากในยุคนี้ในภาพของสุขภาวะของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เกิดความต่อเนื่องในการสร้างงานเชื่อมเครือข่ายขยายผล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แชร์ โชว์ เชื่อมเพื่อนภาคี การแสดงผลงานและเป็นพื้นที่กลางที่ อีกทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการพัฒนาสังคมสร้างสรรค์ เป็นการขับเคลื่อนงานสนับสนุนให้แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย เน้นสานพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานรณรงค์เรื่องดังกล่าวของทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในทุกภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันตระหนักรู้ในการสร้างเกราะป้องกันให้กับเยาวชนต่อไป
ดร.อนงค์ศรี สิทธิอาษา ประธานคณะกรรมการส่งเคราะห์เด็กและเยาวซนสำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเยาวชน จังหวัดเชียงราย และประธานชมรมคนดีศรีเชียงราย กล่าวว่า ดีใจมากที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมดีๆ เช่นนี้และอยากให้มีต่อเนื่องต่อไป เห็นหลายองค์กรทั้งรัฐ ภาคประชาสังคมเห็นพ้องกันที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องดีๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเหล้าที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ดึงเยาวชนไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ กล้าทำในสิ่งที่ผิด เห็นแต่ละพื้นที่อำเภอได้ทำงานด้านนี้เห็นได้ว่า ทุกคนตั้งใจและเห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ และช่วยปกป้องดูแลเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ และจะยังผลถึงการลดการกระทำผิดของเยาวชนด้วย
ด้านนายนฤบดี วงค์เมืองมา เยาวชน YSDN เครือข่ายงดเหล้า อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เผยว่า ดีใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านนี้จากคำแนะนำของรุ่นพี่เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ซึ่งเราไม่ดื่มหรือสูบบุหรี่อยู่แล้ว ในฐานะตัวแทนเยาวชนเชียงแสนก็ภูมิใจที่ได้รับโอกาสและช่วยกันอนุรักษ์ความงดงามของชุมชนในพื้นที่ เช่น ผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ให้สืบต่อภูมิปัญญานี้ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าเยาวชนในพื้นที่ต่างๆก็ทำได้หากได้มีโอกาสร่วมเป็นเครือข่ายในอนาคตที่เชื่อว่าจะเป็นพลังภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อปัจจัยเสี่ยงในสังคมได้ดี
สำหรับงาน “ป๊ะ ปุ๊ แป๋ง เปี๊ยะปี2”: จับเข่าเล่าเรื่องเพื่อคนเชียงฮาย สุขก๋าย ม่วนใจ๋ ปีนี้ เป็นการจัดงานที่มีเป้าหมายเชิญชวนแกนนำพื้นที่ เพื่อนภาคีเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย มานำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566/67 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แชร์ โชว์ เชื่อมเพื่อนภาคี การแสดงผลงานและเป็นพื้นที่กลางที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเยาวชนและทุกคน อีกทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการพัฒนาสังคมสร้างสรรค์ เป็นการขับเคลื่อนงานสนับสนุนให้แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย เน้นสานพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานรณรงค์เรื่องดังกล่าวของทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในทุกภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันตระหนักรู้ในการสร้างเกราะป้องกันให้กับเยาวชนต่อไป
โอกาสนี้ทางภาคีเครือข่ายฯ ยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการพัฒนาสังคมสร้างสรรค์ด้วย โดยมีเจตนารมณ์ดังนี้
- ร่วมกันขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนของจังหวัดเชียงรายมีสุขภาวะที่ดี โดยมีความรู้ด้านสุขภาพและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การไม่ใช้สารเสพติด รวมถึงสุขภาวะทางเพศและ สุขภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม
- หน่วยงานต่างๆจะร่วมกันขับเคลื่อนงานในประเด็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนในรูปแบบการบูรณาการการทำงานเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์และปลอดภัย พัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชน
- ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม อาทิ เครือข่ายสารวัตรนักเรียน บุคลากรด้านการศึกษา บุคลากรมูลนิธิและสมาคมต่างๆ ด้วยการจัดอบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน สนับสนุนสื่อการเรียนรู้ สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคมและสติปัญญาในเด็กและเยาวชน
และ 4. การจัดทำฐานข้อมูล ด้านสุขภาวะและการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงการออกแบบกิจกรรมปฏิบัติการและข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการทำงานเชิงรุก ที่สอดคล้องกับบริบทและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง.