ศึกษาฯ มช. เปิดตัว“หลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ” หวังสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อและแก้ปัญหาในสังคมผ่านครูและบุคลากรด้านการศึกษา ตามยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับสมรรถนะการเป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ เพื่อรองรับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย
เชียงใหม่ 26 ต.ค.- วันนี้ที่ห้องประชุม 4210 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพรัตน์ นพฤทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดตัว “หลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ”โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจมีภูมิความรู้และทักษะในการเข้าใจสื่อชนิดต่างๆ เพื่อนำไปสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นเกราะป้องกันให้กับเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและเสี่ยงสูงในการเข้าถึงสื่อในยุคปัจจุบันที่พร้อมตกเป็นเหลื่อได้ตลอดเวลา โดยการเปิดตัวหลักสูตรดังกล่าวนอกจากจะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรครูในเชียงใหม่ 2 รุ่นทั้งภาคเช้าและบ่ายแล้ว ได้มีการเปิดให้บุคลากรทางการศึกษา ครูและผู้สนใจได้ร่วมเรียนรู้ผ่านระบบ Zoom ไปทั่วประเทศด้วย
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช.ระบุว่า โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลตั้งแต่ปีก่อน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้ดำเนินโครงการ ก่อนการวิจัยได้ค้นพบว่า ปัญหาจากการมีมิจฉาชีพ การหลอกลวงผ่านสื่อในปัจจุบันเป็นผลลัพธ์ที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมในการรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่ต้องทำการวิจัยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและทำหลักสูตรการพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้รู้เท่าทันสื่อขึ้น ภายใต้โครงการการยกระดับสมรรถนะการเป็นผู้รู้เท่าทันสื่อ เพื่อรองรับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสื่อเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันเนื่องจากมีการเข้าถึงได้ง่ายมากในเด็กๆทุกระดับจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเผยแพร่ให้ทุกคนได้เรียนรู้และรู้เท่าทันไม่เฉพาะแค่เด็กเท่านั้น ส่วนการเปิดตัวหลักสูตรครั้งนี้เป็นหลักสูตรของครูในโรงเรียนเนื่องจากมองว่า บุคลากรทางการศึกษามีความสำคัญต่อเด็ก หากครูมีความรู้เท่าทันสื่อก็สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้เด็กผ่านกระบวนการวิเคราะห์ วิจารณญาณในการเลือกเสพสื่อ เป็นเกราะป้องกันเด็กในอนาคต อีกทั้งคาดว่า ในอนาคตจะทำให้คนไทยเป็นคนที่รู้เท่าทันสื่อทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้ถูกหลอกได้
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งหวังให้มีการลดการถูกหลอกลวงจากการที่เราไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการรับสื่อและเทคโนโลยีทุกรูปแบบ มองว่า ถ้าเรามีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ในอีก 5-10 ปี เราสามารถรับมือกับปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านสื่อได้ ปัญหาการถูกหลอกลวงในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 6 ที่ถูกหลอกลวงมากสุด โดยมีคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกว่า 600,000 คดี มากจนน่าตกใจ ไม่อยากให้มีสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นเราคาดหวังว่า ทุกคนจะสามารถป้องกันตนเองจากปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะการนำครูมาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นกลุ่มหลักที่จะช่วยแก้ไขปัญหา โดยหลักสูตรตามโครงการดังกล่าวมีตัวชี้วัดพฤติกรรมที่สำคัญที่มีลักษณะของการรู้เท่าทันเพื่อนำมาออกแบบหลักสูตร ผ่านกิจกรรมต่างๆ 36 กิจกรรม ที่เราได้มีการทดลองและจัดทำเป็นแบบอิเล็คทรอนิคทั้งหมดเพื่อสามารถเผยแพร่ได้ทันที โดยมีครูมากกว่า 1,500 คนที่จะเป็นต้นแบบเรียนรู้และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพกับเด็กๆ ต่อไป ซึ่งเชื่อว่า การออกแบบจากฐานข้อมูล Big Data ของทั้งประเทศและจากกรณีตัวอย่างที่ครูอาสาสมัครกว่า 100 รายที่มาร่วมกันตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา จนออกมาเป็นหลักสูตรที่สามารถใช้ได้และเป็นแนวทางพัฒนาต่อยอด ซึ่งกำลังนำไปใช้ในพื้นที่เชียงใหม่ทั้งหมดในกลุ่ม กศน.และส่งต่อให้โรงเรียนที่พร้อม รวมถึงการเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป
ขณะที่ นางพิมพรรณ ทองงาม เจ้าของและผู้จัดการโรงเรียนวีรยาเชียงใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางโรงเรียนยินดีมากที่ได้รับโอกาสที่ดีในการนำคณะครูของโรงเรียนทั้งหมดจำนวน 49 คน เข้าร่วมโครงการถือว่า เป็นประโยชน์ต่อคณะครูที่จะได้นำความรู้ที่ได้ไปสร้างความเข้าใจแก่นักเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยม เพื่อเด็กจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในการรู้เท่าทันสื่อกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเข้าถึงง่ายและเสี่ยงสูง ทั้งนี้รู้สึกหนักใจต่อปัญหาดังกล่าวเพราะกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัวของคนไทยทั้งประเทศ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก จึงจำเป็นต้องสร้างเกราะป้องกันในการเข้าถึงอย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจากข้อมูลที่มีคดีสูงจนน่าตกใจ
ทั้งนี้ผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เพจของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://www.facebook.com/edu.cmu.ac.th , https://www.facebook.com/whatsupteacher