เชียงใหม่หลายภาคส่วนไม่ละความพยายาม ผลักดันป่าจุลินทรีย์ลดการเผาป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
เชียงใหม่ 2 เม.ย.- ภาคเอกชน นักวิชาการอิสระผลักดันป่าจุลินทรีย์พื้นที่ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด ลดการเผาป่าป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก นำชาวบ้านในพื้นทีทำแนวกันไฟในป่าชุมชนพื้นที่ตำบลป่าป้อง 3 พันไร่ ป้องกันไฟป่าต่อยอดโครงการคืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ก่อนหน้านี้ได้นำตัวแทนชาวบ้านอบรมการทำ EM จากจุลินทรีย์ และเพาะเชื้อเห็ดป่าจากจุลินทรีย์ นำไปหว่านฟื้นคืนสมดุลให้ป่า นอกจากนี้ยังได้มีการนำEM น้ำไปฉีดพ่นเพื่อเร่งการย่อยสลายของใบไม้เพื่อลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง
โดยที่สุสานบ้านป่าตึงน้อย หมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นางสาวจันทร์จิรา จำปาอิน ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงน้อย เจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.33 กองทัพบก พร้อมทหารจิตอาสา ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลป่าป้อง พร้อมด้วย นายจิรศักดิ์ มีสัตว์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท กัลฟ์ นำพนักงานร่วมทำแนวกันไฟป่าและคืนสมดุลให้ป่าด้วย “จุลินทรีย์ ” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้มีการนำ องค์ความรู้ด้าน ฐานชีวภาพและจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาจัดอบรมให้กับผู้นำชุมชนและประชาชน ในพื้นที่ตำบลป่าป้อง ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 3 พันไร่ เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่า ลดฝุ่น PM 2.5
นางสาว จันทร์จิรา จำปาอิน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านป่าตึงน้อย กล่าวว่า ชุมชนให้ความสำคัญมากเพราะป่าชุมชนเป็นแหล่งอาหารทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัญหาไฟป่ามีมาอย่างต่อเนื่อง ในป่าจะมีใบไม้แห้งจำนวนมากในช่วงหน้าแล้ง เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมากและเกิด PM 2.5 เป็นที่มาของการรวมกลุ่มเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าทำแนวกันไฟกันทุกปี และทางราชการมีนโยบายในการลดการเผาป่าและป้องกันไฟป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย จึงได้ร่วมกันในการทำแนวกันไฟกันมาอย่างต่อเนื่อง และเราได้รับการสนับสนุนจาก โครงการโรงไฟฟ้าขยะฯ ของบริษัทเชียงใหม่เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด(CMWTE) และกลุ่มบริษัท กัลฟ์ (GULF) นำพนักงานและประสานกองกำลังทหาร มทบ. 33 มาร่วมทำแนวกันไฟป่าช่วยทางชุมชน นอกจากนั้นบริษัทฯยังนำองค์ความรู้ด้าน ฐานชีวภาพ และ จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาจัดอบรมให้กับผู้นำชุมชนในโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์“ และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ชุมชนอยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับฐานชีวภาพและระบบนิเวศ ฯลฯ และสามารถเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ นำมาช่วยเสริมศักยภาพในการย่อยสลายสลายใบไม้จากการทำแนวกันไฟป่าให้มีการย่อยสลายได้ดียิ่งขึ้นลดการเป็นเชื้อเพลิงไฟป่าและจะสลายเป็นอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสำหรับต้นไม้ในป่าจะช่วยให้ดินดีมีชีวิตและยังเสริมสร้างการกระจายเชื้อจุลินทรีย์ในป่าที่มีความเสื่อมโทรมจากไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าจนเสียสมดุลให้ฟื้นฟูได้ดีมากยิ่งขึ้น และกิจกรรมในการฟื้นฟูป่าด้วยเชื้อราไมคอร์ไรซ่า หรือเชื้อเห็ดป่าเพื่อปลูกป่าเพิ่มเติมและคืนสมดุลให้ป่าในระยะต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่เสริมให้ชุมชนมีโอกาสทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนได้ดีมากยิ่งขึ้น ต้องขอบคุณบริษัทฯ และทุกภาคส่วนที่มาร่วมสนับสนุนชุมชนของเรา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนต่อไป สำหรับบ้านป่าตึงน้อย เป็น 1 ใน 4 หมู่บ้านใน ต.ป่าป้อง ที่มีพื้นที่ป่า 670 ไร่ วันนี้ทำแนวกันไฟป่าประจำปี พื้นที่ยาว 6 กม.ในป่าชุมชน และพื้นที่ป่าคาร์บอนเครดิตรวม 5 แปลง ป่าชุมชนบ้านป่าตึงน้อย ถือว่าความสมบูรณ์ มีต้นพยุง ไม้แดง ไม้สัก และต้นยางนา เป็นธนาคารอาหารของชาวบ้านทุกฤดูกาล มีทั้งไข่มดแดง ผักหวาน ผักกรูด แมงมัน ผักพ่อค้าตีเมีย เห็ดเพาะ เห็ดตับเต่า และเห็ดระโงก อยากกินก็เข้ามาหาเก็บไปบริโภคได้ โดยเฉพาะฤดูแล้วไม่ต้องเผาป่าก็มีผักหวานให้เก็บกิน
ขณะที่นายสมพงค์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวมีพื้นที่ 2,307 ไร่ ชุมชนของเรามีวิถีชีวิตอาศัยและพึ่งพาป่าชุมชนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ป่าไม้คือชีวิตของพวกเราทุกคนช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการทำลายป่า และเกิดความเสื่อมโทรม ฯ จึงได้รวมกลุ่มกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่ามาอย่างต่อเนื่องทั้งการทำแนวกันไฟป่าและการเฝ้าระวังการทำลายป่า ฯลฯ จนมีผลงานที่สามารถขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าชุมชนที่ดูแลโดยชุมชนได้ ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนได้ และอยู่ระหว่างการทำโครงการคาร์บอนเครดิตรวมทั้งการทำแนวกันไฟป่าเป็นประจำทุกปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาคราชการ ท้องถิ่นและเอกชน ประการหนึ่งที่สำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ และการส่งเสริมสนับสนุนจาก บริษัทเชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด ที่นำหน่วยงานทางวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ด้านฐานชีวภาพและจุลินทรีย์ ฯลฯ เป็นมิติใหม่ที่เสริมการดำเนินงานเชิงคุณภาพต่อระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี เพราะเดิมเรามองเชิงกายภาพและปฏิบัติการบนพื้นดินเป็นหลัก ยังไม่มีความรู้ในเชิงชีวภาพซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศ ทำให้เรามองมิติของการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้และเข้าใจระบบนิเวศป่าไม้มากยิ่งขึ้นซึ่งมีแนวทางสู่การพัฒนาป่าชุมชนเชิงชีวนิเวศน์ที่ยั่งยืนต่อไป
นายจิรศักดิ์ มีสัตย์ ผอ.บริหาร กลุ่มบริษัทกัลฟ์ กล่าวว่า เรามาตั้งในพื้นที่ชุมชน เราตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีนโยบายชัดเจนในการร่วมกับชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน ซึ่งป่าชุมชนนับเป็นแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจการอาชีพและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน เราจึงได้อาสาเข้ามาร่วมสนับสนุนชุมชน รวมทั้งการประสานองค์ความรู้จากนักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเสริมสร้างศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งจะสามารถพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนได้ รู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนและยินดี สนับสนุนชุมชนต่อไป
ด้าน ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน นักวิชาการอิสระ ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท กัลฟ์ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นโครงการ CSR เริ่มจากการทำแนวกันไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว และบ้านป่าตึงน้อย ซึ่งทั้งสองหมู่บ้านมีพื้นที่ป่าชุมชนรวมกันประมาณ 3700 ไร่ ซึ่งอยู่กระบวนการป่าคาร์บอนเครดิต และในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงเราจะนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้งในสากลและประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และม.เกษตรศาสตร์ เป็นต้น เกี่ยวกับเชื้อเห็ด ”ไมคอร์ไรซ่า” ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีความสำคัญต่อระบบเครือข่ายการเชื่อมโยงการเจริญเติบโตร่วมกันของรากพืชไม้ป่าและจุลินทรีย์ในดินชนิดต่างๆ ที่จะช่วยการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันโรคพืช ยังช่วยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆเป็นธาตุอาหารให้กับพืชผ่านการอาศัยเกื้อกันกับระบบรากพืชคือ เชื้อราไมคอร์ไรซ่า กับ รากต้นไม้ ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันตลอดอายุขัยของพืช เป็นต้นกำเนิดของเห็ดป่านานาชนิด เช่น เห็ดเผาะ เห็ด ไคล ระโงก เห็ดตับเต่า เห็ดโคนปลวก ฯลฯ ซึ่งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ ได้ร่วมกับชุมชนวางแผนในการนำเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซ่า กลับคืนสู่ป่าสร้างความสมดุล มีการเพาะเชื้อใส่ในกล้าไม้ปลูกเสริมในป่า และนำเชื้อเห็ดป่าไปกระจายสู่บริเวณรากต้นไม้ในป่าเพิ่มจุลินทรีย์ในผืนป่าเสื่อมโทรมและจะนำเมล็ดพันธุ์กล้าไม้ป่านำมาแช่จุลินทรีย์เพิ่มอัตราการงอกและนำมาใส่ปั้นกับก้อนดินจุลินทรีย์และเชื้อเห็ด เพื่อนำไปกระจายสู่ป่าในช่วงฤดูฝนด้วย และ ยังมีแผนการนำเชื้อเห็ดป่าต่างๆให้ชุมชนนำไปเพาะในป่าใกล้ชุมชนและสวนไร่นา เพื่อเป็นแหล่งอาหารประเภทเห็ดในชุมชนครอบครัวจะสามารถทดแทนการเผาป่าหาเห็ดให้ลดลง อันเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดไฟป่าด้วย เป็นแนวทางในการลดปัญหาไฟป่าและลดผลกระทบจาก PM 2.5 ได้ต่อไป ซึ่งความสำคัญอยู่ที่ความรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะศูนย์เรียนรู้ฯจะเป็นกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญในการปฏิบัติการและต่อเนื่องได้ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป รวมถึงภาคีความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆจะเสริมพลังได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการฯนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่ายั่งยืนอาสัยความร่วมมือและความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวบ้านตำบลป่าป้อง ที่มีความตั้งใจนำพาชุมชนป้องกันไฟป่ามาอย่างต่อเนื่องทุกปีและเกิดการสร้างเครือข่ายภาคราชการ องค์กรท้องถิ่น ทหารและภาคเอกชน มาผนึกกำลังกันสร้างพลังขับเคลื่อนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ชุมชนให้อยู่คู่ชุมชนและลด PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งป่าที่เสื่อมโทรมจากน้ำป่ากัดเซาะ หรือไฟป่า ทำให้ป่าไม่เหมือนเดิม ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น มีเชื้อไมคอร์ไรซ่าขยายไปหลายกิโลเมตร หากต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นล้มตายไป จะส่งผลเสียหายกับต้นไม้อื่นๆอีก 47 ต้น
ดร.กฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนทั้งสองหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลป่าป้อง เป็นกิจกรรมต่อยอดจาก โครงการคืนสมดุลให้ป่าชุมชนด้วยจุลินทรีย์ แก้ปัญหาไฟป่าฟื้นนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ก่อนหน้านี้ได้นำตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลป่าป้อง อบรมความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์และความรู้ฐานชีวภาพ (Biobased) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนเข้าใจมิติความสัมพันธ์ของวัฏจักรธรรมชาติด้านชีววิทยากับวิถีชีวิตชุมชนและป่าไม้ ฯลฯ การรู้จักใช้จุลินทรีย์เพื่อสิ่งแวดล้อม การเกษตร และแนวทางพัฒนาอาชีพรายได้ชุมชน และอบรมการ EM จากจุลินทรีย์ และเพาะเชื้อเห็ดป่าจากจุลินทรีย์ นำไปหว่านในป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ฟื้นคืนสมดุลให้ป่า นอกจากนี้ยังได้มีการนำEM น้ำไปฉีดพ่นเพื่อเร่งการย่อยสลายของซากพืชเพื่อลดเชื้อเพลิงในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน
ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเกิดจากภาวการณ์เสียสมดุลของระบบนิเวศน์ และวิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่ว่าในการลดภาวะโลกร้อน และการย้อนไปสู่ยุคที่เหมือนเกิดโลกใหม่ๆ ต้องทำอย่างไรบ้าง จึงได้วิเคราะห์ดูว่าระบบฐานชีวภาพ จะสามารถอธิบายของการเสียสมดุลได้ดี ก็เลยนำยุทธศาสตร์นี้มาส่งเสริมให้กับชุมชนในเรื่องของไบโอชีวภาพ ซึ่งเรานิยามว่าการส่งเสริมยุทธศาสตร์เมืองจุลินทรีย์ ก็คือการนำเอาองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ต่างๆ ส่งเสริมให้ชุมชนในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผาป่าเอาเห็ด หรือเผาป่าเพื่อสร้างมูลค่าบางอย่างหรือความสะดวกกในการหาพืชพันธุ์ธัญญาหารเล็กๆน้อยๆในป่าซึ่งสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศน์เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นองค์ความรู้เรื่องเมืองจุลินทรีย์ ก็เลยเอาตัวจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นกลไก วัฏจักรของระบบนิเวศน์ทั้งหมดมาเป็นตัวที่จะเร่งย่อยสะลายเร่งระบบนิเวศน์ย้อนกลับมา ก็คือเอาตัวจุลินทรีย์มาเร่งย่อยสลายเศษใบไม้ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในป่า ตลอดจนย่อยสลายอินทรียวัตถุ สิ่งที่เหลือจากภาคการเกษตร เศษอาหาร ย้อนกลับมากลายเป็นปุ๋ย ปุ๋ยน้ำ เป็น EM บอล เป็นจุลินทรีย์ ที่ใช้ในการฟื้นฟูป่า เพราะว่าจุลินทรีย์ เป็นตัวกระตุ้นทำงานกับต้นไม้ ระบบนิเวศน์ อุณหภูมิ เป็นการฟื้นฟูดินให้มีชีวิต เมื่อดินดีก็มีต้นไม้ ป่าก็มีชีวิต